ความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกันของบุคคลย่อมเป็นเหตุให้ เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ในการพัฒนา ตนให้มีวินัย มีความงามทางกาย วาจานั้น มีข้อห้ามไว้ในเบญจศีลว่าจะต้องไม่กล่าวคำที่เป็นเท็จ หลอกลวง ไม่จริง และในเบญจธรรมมีข้อที่ควรปฏิบัติคือ ต้องมีสัจจะ เป็นการย้ำว่าไม่ให้โกหก ให้จริงใจต่อกัน บุคคลที่มีความจริงใจย่อมได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้อื่น จะคิดจะทำอะไร ย่อมมีผู้ช่วยเหลือค้ำจุน ต่างจากคนหลอกลวงที่ไม่มีใครอยากคบหาเสวนา หากดูคำสอนเกี่ยวกับการเลือกคบคน พระพุทธองค์ทรงสอนว่า บุคคลที่ไม่ควรคบหาสมาคมด้วยก็คือ คนประจบ ดีแต่พูด หาความจริงใจไม่ได้ การซื่อสัตย์จริงใจที่แสดงออกทางวาจา ทำให้บุคคลมีความสุจริตทางวาจา 4 ข้อในกุศลกรรมบถ 10
ส่วน ความซื่อสัตย์ที่แสดงออกทางกายได้แก่การไม่ลักขโมยในเบญจศีล และ มีสัมมาอาชีวะ ในเบญจธรรม การลักขโมยมีความหมายกว้างถึงของทุกอย่างไม่ว่าอยู่ในที่ลับหรือที่แจ้งหาก ไม่ใช่ของของตนแม้จะได้รับโอกาสดูแลรักษาก็ต้องดูแลเพื่อให้เจ้าของเขา เป็นผู้รับประโยชน์ ไม่ใช่แสวงหาประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล ตัวอย่างเช่น นักการเมือง หรือ ข้าราชการได้รับมอบหมายจากประชาชนให้ดูแลเศรษฐกิจของบ้านเมือง ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแต่ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยหาประโยชน์เพื่อตนจากหน้าที่ ที่ได้รับ เรียกว่าคอรัปชั่น โกงบ้านโกงเมือง โกงเวลาราชการ ทำให้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ ในระดับครอบครัวผู้ที่ไม่ปฏิบัติเบญจศีล ทั้งในข้อมุสาและในข้อ กาเม คือ ไม่มีสัจจะ และ กามสังวรในเบญจธรรม ย่อมทำให้สามีภรรยาไม่มีความไว้วางใจกัน แสดงว่าไม่มีความซื่อสัตย์ ความสงบสุขในครอบครัวก็เกิดขึ้นไม่ได้ ปัญหาครอบครัวแตกแยกก็มีมูลเหตุมาจากความไม่ซื่อสัตย์ จริงใจ
ผู้ ที่มีความซื่อสัตย์ทางกาย ย่อมไม่ก่อเวรภัยแก่ผู้ใด ไม่ทำร้าย คิดพยาบาท อาฆาต ทำลายใครทั้งโดยทางกาย วาจาและใจ เป็นผู้ปฏิบัติกุศลกรรมบถ ครบทั้ง 10 ประการ ความเป็นผู้มีความยุติธรรมก็บังเกิดแก่บุคคลผู้นั้นด้วย ความซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรม จึงมีความสำคัญในอันที่จะส่งผลต่อเนื่องกัน กับการพัฒนาศีลหรือระเบียบวินัย